เผย 22 ความเข้าใจผิด เรื่อง Covid-19
จังหวะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกแบบนี้ ทำให้เกิดการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสตัวนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษา การฆ่าเชื้อโรค หรืออีกสารพัดเรื่อง ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการสื่อสารบางทีก็อาจจะถูกบ้าง ผิดบ้าง ในบทความนี้ BnB home ขอมาเผย 22 ความเข้าใจผิด เรื่อง Covid-19 เป็นข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษายน 2563
1. ความจริง: ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้แพร่เชื้อผ่านสัญญาน 5G
เชื้อไวรัสไม่สามารถเดินทางผ่านสัญญานคลื่นวิทยุได้อยู่แล้ว อีกทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ได้แพร่กระจายในหลาย ๆ ประเทศที่ไม่ได้มีสัญญาน 5G ใช้ เหตุเพราะมันไม่ได้แพร่เชื้อด้วยสัญญาน 5G แต่แพร่เชื้อผ่านทางละอองฝอย (droplets) อย่างน้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม หรือการพูด ซึ่งเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายจากการที่เราไปสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสอยู่ จากนั้นก็มาสัมผัสตา จมูก หรือปากต่อ
2. ความจริง: ตากแดดไม่ได้ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19
ปกติแล้วแสงแดดช่วยในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มได้ หากปล่อยให้แดดส่องประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีการศึกษากันอยู่ว่าต้องใช้เวลาอยู่ท่ามกลางแสงแดดนานเท่าไหร่ และเนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะตายได้ในอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส แต่ปกติแสงแดดจะไม่ได้อุณหภูมิสูงขนาดนั้น การตากแดดจึงไม่ได้ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
3. ความจริง: ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถแพร่เชื้อผ่านสินค้าที่ส่งมาจากประเทศที่มีการระบาด
ถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมงหรือหลายวัน (ขึ้นอยู่กับประเภทของพื้นผิว) แต่สภาวะแวดล้อม การเคลื่อนย้ายและอุณหภูมิต่าง ๆ ระหว่างขนส่งก็ทำให้ไวรัสคงอยู่ได้ยาก เพื่อความสบายใจ...ถ้าเราคิดว่าของที่รับมาจากขนส่งนั้นอาจมีเชื้อไวรัสติดอยู่ ให้ทำความสะอาดของที่รับมาด้วยสารฆ่าเชื้อ และให้ล้างมือหลังจากสัมผัสสิ่งของนั้น
4. ความจริง: กลั้นหายใจ 10 วิ. โดยไม่เจ็บปอดหรือไม่ไอ ไม่ได้แปลว่าคุณ ไม่ติดเชื้อโควิด-19
การกลั้นหายใจแบบในคำแนะนำที่บอกต่อ ๆ กันมา ไม่สามารถเช็คอาการของโควิด-19 ได้ วิธีที่ได้ผลที่สุดคือ การตรวจเชื้อผ่านห้องทดลองที่ได้มาตรฐานเท่านั้น โดยองค์การอนามัยโลกบอกว่า อาการทั่วไปของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 นี้ จะไอแห้ง เหนื่อยหอบ และมีไข้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการดังกล่าว บางคนแสดงแค่บางอาการ หรือบางคนที่ร่างกายแข็งแรงอาจไม่แสดงอาการเลยก็ได้
5. ความจริง: ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ทุกพื้นที่ แม้ในอากาศร้อนชื้น
ความเข้าใจที่ว่าไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายแต่ในอากาศแห้งและหนาว ไม่เป็นความจริง พื้นที่ที่อากาศร้อนชื้นเชื้อโรคก็แพร่กระจายได้ แต่เพราะอากาศร้อน อุณหภูมิสูง และแดดจัด ทำให้เชื้อโรคอ่อนแอ และตายง่ายกว่าพื้นที่ที่มีอากาศหนาวหรือเย็นสบาย แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สภาพอากาศเป็นแบบใด สิ่งสำคัญก็คือ ต้องปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี โดยกินร้อน อาหารจานเดียว ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อย ๆ ปิดปากเวลาไอจามด้วยทิชชู่ สวมหน้ากากอนามัย
6. ความจริง: ตอนนี้ยังไม่มียารักษาเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ
เนื่องจากยังไม่มียาป้องกันหรือรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ผู้ที่ติดเชื้อจึงควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพื่อทุเลาและรักษาอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรได้รับการดูแลขั้นสูงสุด โรคนี้สามารถหายได้ และเชื้อโควิด-19 นี้ ไม่ได้ติดตัวเราไปตลอดชีวิต ซึ่งในขณะนี้กำลังมีการศึกษาวิธีรักษาโรคนี้โดยเฉพาะอย่างแข็งขัน โดยทางองค์การอนามัยโลกเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการรักษาร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
7. ความจริง: ซักผ้าด้วยน้ำร้อนฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้
หากยังกังวลว่าซักผ้าตามปกติเชื้อโรคอาจยังไม่หมดไป ให้ซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส กับผงซักฟอกหรือสบู่ อาจผสมน้ำยาฟอกขาวลงไปด้วยก็ได้ จากนั้นนำผ้าไปตากแดดให้แห้งหรือใช้เครื่องอบผ้าแห้งในอุณหภูมิสูง ก็จะทำให้เชื้อโรคตาย หายเกลี้ยงได้ อย่าลืมแยกผ้าก่อนซักด้วยนะคะ เพราะผ้าบางชนิดอาจซักด้วยน้ำร้อนมากไม่ได้
8. ความจริง: เครื่องยิงตรวจจับความร้อนไม่สามารถระบุผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ได้ 100%
เครื่องยิงตรวจจับความร้อนสามารถบอกอาการเบื้องต้นได้ว่า ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือมีไข้ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการเริ่มต้นของโรคโควิด-19 และเพื่อให้แน่ใจว่าติดเชื้อแล้วหรือยัง ควรไปตรวจเชื้อผ่านห้องทดลองที่ได้มาตรฐานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจนี้ไม่สามารถระบุตัวผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการไข้ได้ เพราะเชื้อไวรัสอาจใช้เวลา 2-10 วัน ในการทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยและมีไข้
9. ความจริง: ฉีดแอลกอฮอล์หรือคลอรีนใส่ตามตัว ไม่ได้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ร่างกายไปแล้วได้
สารเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายได้ถ้าไปโดนเสื้อผ้า อีกทั้งถ้าโดนร่างกายเรา ก็อาจเกิดอาการระคายเคืองได้ เช่น เยื่อบุต่าง ๆ ตา หรือปาก ทางที่ดีหากกลับเข้าบ้านแล้วควรรีบอาบน้ำและนำเสื้อผ้าไปซักทันที ซึ่งทั้งแอลกอฮอล์และคลอรีนสามารถใช้ฆ่าเชื้อบนพื้นผิว วัสดุต่าง ๆ ได้ ไม่ควรใช้กับร่างกายหรือผิวหนังเรา และควรใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ
10. ความจริง: ไม่ควรใช้หลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโควิด-19 กับผิวหนังเรา
ไม่ควรใช้หลอดไฟยูวีในการฆ่าเชื้อโรคที่มือ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะรังสียูวีสามารถทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
11. ความจริง: ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะทำให้เราหายจากหวัดธรรมดาได้เร็ว แต่ไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือโควิด-19 ได้
12. ความจริง: ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ป้องกันเชื้อโควิด-19
แอลกอฮอล์ที่ใช้ดื่มมีค่าความเข้มข้นมากที่สุดเพียง 40% และเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายจะเจือจางลงไปอีก หากพยายามดื่มแอลกอฮอล์จนมีปริมาณเข้มข้นมากถึง 70% (ปริมาณความเข้มข้นที่สามารถฆ่าเชื้อโรค) กระเพาะอาหารของคุณอาจเป็นแผล อาเจียนเป็นเลือด จนถึงขั้นเกิดอาการช็อกจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากได้ และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
13. ความจริง: แช่/ อาบน้ำร้อนจัด ไม่ได้ปกป้องร่างกายจากเชื้อโควิด-19
เมื่อรู้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ตายที่อุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส บางคนจึงอาบน้ำในอุณหภูมิที่สูงขึ้น หวังจะให้เชื้อไวรัสตายจากน้ำที่อุณหภูมิสูง แต่ความเป็นจริงแล้วอุณหภูมิน้ำที่สูงของเครื่องทำน้ำอุ่นหรือเครื่องทำน้ำร้อนจะอยู่ที่ช่วง 36.5-37 องศาเซลเซียส หากเราอาบน้ำที่อุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส จะเป็นอันตราย ทำให้ผิวหนังถูกลวก เป็นแผลพุพองได้
14. ความจริง: ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้แพร่ผ่านยุง
ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ชี้ชัดว่ายุงเป็นพาหะนำโรคนี้ได้ แต่ถ้ายุงกัดคนที่มีเชื้อโควิด-19 แล้วไปกัดคนปกติต่อ คนที่ถูกกัดนั้นจะไม่ติดเชื้อโควิด-19 เพราะเชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจ จึงมักติดกันผ่านฝอยละอองไอ จาม หรือน้ำลายของผู้ป่วย
15. ความจริง: เครื่องเป่ามือไม่ได้ช่วยฆ่าไวรัสโควิด-19
วิธีป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ควรล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือด้วยน้ำและสบู่ เมื่อล้างมือสะอาดแล้วจึงควรทำให้แห้งด้วยเครื่องเป่ามือ หรือเช็ดด้วยกระดาษเช็ดมือ
16. ความจริง: วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ใช้กับโรคโควิด-19 ไม่ได้
เชื้อไวรัสนี้ยังใหม่และแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมอยู่มาก ต้องใช้วัคซีนที่พัฒนามาสำหรับเชื้อตัวนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทีมวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก
17. ความจริง: ยาปฏิชีวนะไม่สามารถป้องกัน รักษาโรคโควิด-19 ได้
ยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงนำยาปฏิชีวนะมาใช้ในการป้องกันหรือรักษาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากเข้ารักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล อาจได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
18. ความจริง: กินกระเทียมไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ถึงแม้กระเทียมจะมีคุณสมบัติบางอย่างในการต้านเชื้อจุลชีพ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
19. ความจริง: ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำไม่ทำให้ติดโควิด-19
เนื่องจากสระว่ายน้ำทุกสระมีระบบฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดน้ำ เช่น คลอรีน เกลือ หรือ UV จึงมั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้ แต่ควรระวังเรื่องข้าวของ เครื่องใช้ และพื้นที่สาธารณะ เช่น ล็อกเกอร์เก็บของ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น ทางที่ช่วงนี้แนะนำให้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ งดออกไปว่ายน้ำก่อนดีกว่าค่ะ
20. ความจริง: เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถพบได้ในอุจจาระ
เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำทำความสะอาด หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาด
21. ความจริง: สูบบุหรี่เพิ่มโอกาสในการแพร่และติดเชื้อโควิด-19
การปล่อยควันบุหรี่ออกมาแต่ละครั้งจะมีทั้งสารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ และแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อไวรัสก็จะปะปนมากับสารคัดหลั่งเหล่านั้น และแพร่กระจายเชื้อไปได้ไกล หากคนที่สูบบุหรี่มีเชื้อโควิด-19 อาจทำให้ผู้คนรอบข้างติดเชื้อไปด้วย อีกทั้งคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ถึงแม้ว่าจะร่างกายแข็งแรงและไม่ได้มีโรคประจำตัว ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้มากกว่าคนที่ไม่สูบ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นการทำลายปอดอยู่แล้ว และเชื้อโควิด-19 ก็ส่งผลต่อส่วนนี้มากที่สุด
22. ความจริง: หากมีอาการปวด ให้ใช้พาราเซตามอลแทนไอบูโพรเฟน
แม้ยังไม่มีหลักฐานการทดลองโดยตรงว่ายาไอบูโพรเฟน อาจไปกระตุ้นเอนไซม์บางตัว ที่ทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 ลุกลามเร็วขึ้นและกลายพันธุ์ได้ แต่เพื่อความปลอดภัย หากมีไข้ ปวดหัว ปวดตัว แนะนำให้ใช้พาราเซตามอล ลดไข้ บรรเทาปวดแทนไปก่อน
>> ช้อปสินค้าป้องกันโควิด-19 ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ