ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไร ไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนบ้าน
ชายคาบ้านเป็นพื้นที่สำคัญในการช่วยปกป้องทั้งแดด ลม ฝน เข้าสู่ตัวบ้าน และหนึ่งส่วนประกอบของเชิงชายบริเวณชายคาบ้านที่สำคัญก็คือ รางน้ำฝน นั่นเอง รางน้ำฝนมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ชายคาและหลังคาบ้านผุกร่อน และยังป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงมาเลอะผนังและบริเวณรอบบ้าน รวมทั้งยังช่วยให้น้ำฝนไหลลงในจุดที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีปัญหากับบ้านใกล้เคียงอีกด้วย
มาทำความรู้จักกับประเภทของรางน้ำฝน และคุณสมบัติของรางน้ำฝนแต่ละประเภท รวมถึงวิธีการติดตั้งอย่างไรที่ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตกันครับ
ประเภทของรางน้ำฝนที่แบ่งตามวัสดุ
1. รางน้ำฝนโลหะ
• รางน้ำฝนสังกะสี
เป็นวัสดุเหล็กแผ่นเคลือบผิวสังกะสี โดยจะตัดและพับขึ้นรูปได้ตามรูปแบบและขนาดที่ต้องการ ในอดีตเป็นที่นิยมนำมาทำรางน้ำ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และมีราคาถูก แต่มีอายุการใช้งานค่อนข้างต่ำ เป็นสนิมได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณรอยต่อรอยเชื่อม มีความสวยงามน้อยกว่าแบบอื่น และมีเสียงดังเมื่อน้ำฝนตกกระทบ
• รางน้ำฝนอะลูมิเนียม
เหล็กแผ่นเคลือบผิวอลูซิงค์ หรือกัลวาไนซ์แล้วพ่นสีทับ เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่มักนำมาทำรางน้ำฝน เนื่องจากไม่เกิดสนิมง่าย มีความคงทนต่อการกัดกร่อนสูง น้ำหนักเบา มีความสวยงามและมีหลายสี ราคาสูงกว่าแบบสังกะสี แต่จะไม่มีปัญหาเรื่องรั่วซึม เนื่องจากขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อได้
• รางน้ำฝนสแตนเลส
รางน้ำประเภทนี้ควรเลือกใช้สแตนเลส เกรด 304 เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดสนิม รางน้ำสแตนเลสจะมีเนื้อวัสดุเป็นสีธรรมชาติ แม้ว่าราคาจะสูงกว่ารางน้ำฝนสังกะสี แต่ดูสวยงามมากกว่า และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า มีความทนทานสูง ไม่เป็นสนิม
2. รางน้ำฝนวัสดุสังเคราะห์
• รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส
เป็นอีกหนึ่งวัสดุใช้ทำรางน้ำที่นิยมใช้งานตามบ้าน เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความคงทนสูง ไม่เกิดสนิม มีความสวยงามเป็นเนื้อเดียวไม่มีรอยต่อ มีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบสั่งผลิตตามความยาวที่ต้องการ อายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี แต่การติดตั้งต้องใช้ช่างเฉพาะทาง
• รางน้ำฝนไวนิล
รางน้ำประเภทนี้ผลิตมาจากโพลีเมอร์สังเคราะห์ เป็นรางน้ำสำเร็จรูป ติดตั้งง่าย รวดเร็วมีความแข็งแรงและสวยงาม มีหลายสีให้เลือกเข้ากับบ้านได้ง่าย เนื้อวัสดุคล้ายกับพลาสติกแต่มีความเหนียว คงทนมากกว่าพลาสติก ไม่เป็นสนิม ติดตั้งง่ายกว่ารางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส อายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี การใช้งานจะเชื่อมต่อด้วยกาว หรือซิลิโคน แต่การติดตั้งต้องใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญ
เลือกรางน้ำฝนแบบไหนดี ?
ควรเลือกรางน้ำฝนที่วัสดุมีอายุการใช้ไม่ต่ำกว่า 10 - 15 ปี และไม่ตื้นเกินไปเพราะจะทำให้น้ำไหลย้อนเข้าไปฝ้าเพดานได้ รวมถึงเลือกใช้ให้เหมาะกับการรับน้ำ ดังนี้
- หลังคาที่มีความยาวไม่เกิน 5 เมตร ใช้รางน้ำฝนขนาด 4 นิ้ว
- หลังคาที่มีความยาวไม่เกิน 5 - 15 เมตร ใช้รางน้ำฝนขนาด 5 นิ้ว
- หลังคาที่มีความยาวมากกว่า 15 เมตร ใช้รางน้ำฝนขนาด 6 นิ้ว
วิธีการติดตั้งรางน้ำฝนที่ถูกต้อง
การติดตั้งรางน้ำฝนต้องหาระยะในการติดตั้งที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้รางน้ำฝนยื่นเลยออกไปในขอบเขตของเพื่อนบ้านและมีปัญหาภายหลังได้
ตามข้อกฎหมายการสร้างบ้าน ต้องระวังเรื่องการระบายน้ำฝน เพื่อไม่ให้การระบายน้ำกระทบต่อที่ดินข้างเคียง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ข้อ 2 บอกไว้ว่า “อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีการระบายน้ำฝนออกจากอาคารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือเกิดน้ำไหลนองไปยังที่ดินอื่นที่มีเขตติดต่อกับเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารนั้น"
ประกอบกับกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อ 50 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) "กำหนดให้ แนวผนังอาคารต้องร่นจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร และเป็นผนังทึบ”
ดังนั้น หากติดตั้งรางน้ำฝนกับหลังคาที่มีการติดตั้งเชิงชายเรียบร้อยแล้ว ระยะยื่นปลายกระเบื้องหลังคารางน้ำฝนจะใช้พื้นที่ประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร
วิธีการติดตั้งรางน้ำฝนเบื้องต้น มีดังนี้
1. สำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้งรางน้ำฝน ตรวจสอบความแข็งแรงของบริเวณเชิงชาย หรือปีกนกที่จะติดรางน้ำฝน หากต้องมีการรื้อรางน้ำเก่าออกก่อน ระวังอย่าให้กระทบกับโครงสร้างหลังคา
2. วัดระดับน้ำที่หัวท้ายของรางน้ำ เพื่อตรวจความลาดเอียงของรางน้ำ แล้วทำการตีเต๊าหรือเชือกตีแนวเส้นที่จะติดตั้งรางน้ำ
3. ติดตั้งตะขอแขวนราง ตามระยะที่เหมาะสมกับประเภทรางน้ำ ซึ่งแต่ละประเภทมีระยะที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยทั่วไปจะเว้นระยะห่างประมาณ 60 - 80 เซนติเมตร หากเป็นรางน้ำฝนไวนิลจะต้องใช้ซิลิโคนในการช่วยเชื่อมระหว่างรอยต่อด้วย
4. ติดตั้งรางน้ำฝนกับผนังหรือเสาด้วยตัวยึด
5. เช็กการทำงานของรางน้ำฝนด้วยการทดลองฉีดน้ำบนหลังคา
จะเห็นได้ว่ารางน้ำฝนคืออุปกรณ์ที่สำคัญนอกจากจะช่วยให้บ้านดูเรียบร้อยและไม่เลอะเทอะในช่วงหน้าฝนแล้ว หากติดตั้งอย่างถูกต้องและตามกฎหมายก็จะทำให้ลดปัญหากับเพื่อนบ้านลงได้ด้วย
>> ช้อปรางน้ำฝน ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ