ไม่พบรายการที่ท่านค้นหา

แผงโซล่าเซลล์มีกี่แบบ ติดตั้งสำหรับบ้านต้องแบบไหน

          ปัจจุบันนี้หลายคนมองหาพลังงานทางเลือกในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่หลายคนสนใจที่สุดขณะนี้ คือพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์

          ซึ่งแผงโซล่าเซลล์คือตัวกลางในการนำพลังงานแสงอาทิตย์แปลงมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ได้ในครัวเรือนได้

          บทความนี้ BnB home จะพาคุณมาทำความรู้จักรูปแบบของแผงโซล่าเซลล์ และระบบที่เหมาะสำหรับติดตั้งที่บ้าน รวมถึงสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์

ระบบโซล่าเซลล์มี 3 ระบบหลัก คือ

          1. ระบบโซล่าเซลล์แบบออนกริด (On Grid)

          เป็นระบบที่ใช้กระแสไฟแบบกึ่ง คือ ใช้ได้ทั้งไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซล่าเซลล์ และใช้ไฟฟ้าที่ส่งมาจากการไฟฟ้า หากไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซล่าเซลล์เหลือใช้ สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ระบบออนกริด จึงต้องมีการขออนุญาตการไฟฟ้าก่อน ซึ่งระบบนี้ เหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก เนื่องจากแผงโซล่าเซลล์จะไม่มีแบตเตอรี่สำรองไฟแบบระบบอื่น และเหมาะกับบ้านที่มีเสาไฟฟ้าผ่าน เพื่อเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้าได้ และยังเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันด้วย เนื่องจากคืนทุนเร็วที่สุด

          2. ระบบโซล่าเซลล์แบบออฟกริด (Off Grid)

          มุ่งเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยการดึงกระแสไฟจากแผงโซล่าเซลล์มาใช้โดยตรง ไม่มีการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์ระบบออฟกริดนี้ จะมีแบตเตอรี่สำรองเพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืนได้ด้วย ระบบนี้จะเหมาะสำหรับบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีเสาไฟฟ้าผ่าน เช่น ในป่า บนเขา หรือยอดดอย

          3. ระบบโซล่าเซลล์แบบไฮบริด (Hybrid)

          เป็นระบบที่ผสมระหว่างออนกริด และออฟกริด โดยสามารถใช้ไฟฟ้าได้จากทั้งการผลิตของแผงโซล่าเซลล์ สามารถใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สำรองในช่วงเวลากลางคืนหรือเวลาที่ไฟฟ้าดับ และสามารถใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้ แต่พลังงานที่เหลือไม่สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้า ระบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร เนื่องจากอุปกรณ์ต่าง ๆ มีราคาสูง ต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าจะคืนทุน


ชนิดของแผงโซล่าเซลล์ มี 3 แบบ คือ

          1. แผงโซล่าเซลล์ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)

          แผงโซล่าเซลล์ประเภทนี้จะมีฟิล์มลักษณะบางกว่าชนิดอื่น สีแผงจะเข้มหรือมีสีดำ ข้อดีคือราคาถูกที่สุดใน 3 ชนิดนี้และมีน้ำหนักเบา ทนต่อความร้อนได้ดี แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุดและมีอายุการใช้งานที่สั้น ซึ่งไม่เหมาะนำมาติดตั้งในภาคอุตสาหกรรม

          2. แผงโซล่าเซลล์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline Silicon Solar Cells)

          เป็นแผงที่ทำมาจากซิลิคอนทรงกระบอกบริสุทธิ์ รูปทรงของเซลล์จะมีสีเข้ม มุมทั้งสี่มุมจะเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัด ข้อดีคือ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานที่สุด (25 - 40 ปี) และสามารถผลิตไฟได้ดีแม้แสงแดดจะน้อยก็ตาม และเมื่อเทียบกำลังวัตต์ที่เท่ากัน แผงโซลาร์เซลล์แบบ Mono Crystalline จะมีขนาดเล็กกว่า เหมาะกับสถานที่ติดตั้งที่มีพื้นที่จำกัดอย่างบนหลังคาบ้าน แต่ก็มีข้อเสียคือราคาที่สูงและหากมีคราบสกปรกบนแผงติดอยู่เป็นระยะเวลานาน จะทำให้ระบบอินเวอร์เตอร์ไหม้ได้

          3. แผงโซล่าเซลล์ชนิดโพลีคริสตัลไลน์ (Poly Crystalline Silicon Solar Cells)

          เป็นแผงที่ทำมาจากผลึกซิลิคอน รูปทรงของเซลล์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่มีการตัดมุม สีของแผงเข้มออกไปทางสีน้ำเงิน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ ราคาไม่แพง และสามารถใช้งานในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าแผงคริสตัลไลน์เล็กน้อย แต่มีข้อเสียตรงอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นเพียง 20 - 25 ปี


ก่อนติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ในบ้านควรคำนึงถึงอะไรบ้าง?

1. กำลังไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ที่ต้องการใช้

          ก่อนคิดจะติดตั้งโซล่าเซลล์ต้องตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟในบ้านของคุณเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรเลือกติดแผงโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไร ซึ่งสามารถตรวจสอบคร่าว ๆ ด้วยการคำนวณจากค่าไฟฟ้าที่คุณใช้ในแต่ละเดือน
ลองคำนวณคร่าว ๆ ไปพร้อมกัน..
          - ให้ลองแบ่งปริมาณการใช้ไฟตอนกลางวันและกลางคืน แล้วยึดเอาค่าการใช้งานช่วงกลางวันมาคำนวณ เช่น ค่าไฟทั้งเดือนของคุณอยู่ที่ 5,000 บาท ใช้งานในช่วงกลางวันอยู่ที่ 60% และกลางคืน 40% เพราะฉะนั้นค่าไฟตอนกลางวันอยู่ที่ 3,500 บาท
          - นำค่าไฟกลางวันไปหารด้วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย (3,500 ÷ 4 = 875 หน่วย)
          - นำเลขหน่วยหารด้วยจำนวนวันและชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์ (875 ÷ 30) ÷ 9= 3.2 หน่วยต่อชั่วโมง ดังนั้นกำลังไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับการติดตั้ง คือ ขนาดที่ 3 - 5 กิโลวัตต์ (3KW)
          ทั้งนี้ทั้งนั้นการคำนวณแบบนี้เป็นเพียงการคำนวณคร่าว ๆ เท่านั้น หากต้องการติดตั้งจริง ๆ แนะนำให้คุณปรึกษาเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์อีกครั้ง

2. ความแข็งแรงของหลังคาและทิศทางการติดตั้ง

          ก่อนติดตั้งควรตรวจสอบวัสดุที่ใช้ปูหลังคาว่ารับน้ำหนักและแรงกดทับได้มากเพียงใด ซึ่งแผ่นโซล่าเซลล์ 1 แผ่นจะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม และมีขนาด 1 x 2 เมตรต่อแผ่น อีกทั้งต้องสำรวจรอยร้าว รอยรั่ว หากเจอควรซ่อมใหม่ให้เรียบร้อยก่อนจะติดตั้ง
          ส่วนเรื่องของทิศทางในการติดตั้ง บ้านที่มีหลังคาลาดเอียงทางทิศใต้และทิศตะวันตกจะได้รับแสงแดดและความร้อนจากดวงอาทิตย์สูงสุด หากติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในทิศนี้จะสามารถเก็บพลังงานได้มากและคุ้มค่าที่สุด

3. การเลือกผู้ให้บริการ

          ในตลาดนี้มีผู้ให้บริการในการปรึกษาและติดตั้งมากมาย ซึ่งเราควรเลือกผู้ที่มีประสบการณ์และมีมาตรฐานการบริการที่ดี ทั้งบริการหลังการขายและการรับประกันประสิทธิภาพของแผงควรมีการันตี 25 ปีขึ้นไป และอย่าลืมตรวจสอบการรับประกันอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย เช่น คอนโทรลเลอร์, ชาร์จเจอร์, อินเวอร์เตอร์ ออฟกริด, ไฮบริด ออฟกริด ซึ่งควรมีการรับประกัน 1 ปีขึ้นไป

4. การทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซล่าเซลล์

          เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ได้เลย เพราะยังต้องมีการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์บ้านจากการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งมีการเตรียมเอกสารและดำเนินการที่ยุ่งยากพอสมควร ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะคิดรวมค่าบริการทำเรื่องเอกสารเหล่านี้อยู่ด้วย และให้คุณเผื่อเวลาในการดำเนินการไว้ 1-2 เดือนหลังจากยื่นเอกสาร
          การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์สำหรับใช้ในครัวเรือนอาจดูเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ถือเป็นการวางแผนประหยัดพลังงานในระยะยาว ซึ่งลงทุนแค่ครั้งเดียวสามารถใช้งานได้คุ้มค่าไปนานกว่า 25 ปี นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานของโลกได้อีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก: newsouthernenergy.com

>> ช้อปแผงโซล่าเซลล์ ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ติดแอร์ในห้องนอน ควรติดตรงไหน
รวมไอเดียแต่งเติมห้องนอนในฝัน ให้เด็กหลับสบาย ฝันดีทุกคืน

สินค้าแนะนำ